คอลัมน์นำเสนอศัพท์ชาวบ้านๆ ที่น่าจะนำไปใช้แทนศัพท์จากเหล่าราชบัณฑิต 
ซึ่งชาวบ้านนั่งร้านกาแฟฟังแล้วไม่รู้เรื่อง

IDENTITY

ภาษาวิชาการ: อัตลักษณ์ (อัด-ตะ-ลัก)

ภาษาชาวบ้าน: ลักษณะเฉพาะตัว

ความหมาย: ลักษณะเฉพาะตัว ก็คือภาพลักษณ์ของแต่ละคน มุมมองที่เรามองตัวเราเอง ว่าเราคือใคร และเราอยากจะให้คนอื่นเห็นเราแบบไหน 

ภาษา CAFE เราก็เลยแปลไทยเป็นไทยกันซื่อๆนี่แหละ "อัตตะ" หรือ "อัตตา" แปลว่าตัวตน ลักษณ์ ก็คือลักษณะ ถ้าไม่แปลว่าลักษณะเฉพาะตัวแล้วจะให้แปลว่าอะไรดีล่ะ??? 

เราแต่ละคนก็มีลักษณะเฉพาะตัว เช่นเดียวกัน ชุมชน หรือสังคมเรา ก็มีลักษณะเฉพาะตัวได้เหมือนกันนิ (Cultural identity, social identity etc.

คำอธิบายเพิ่มเติม

ลักษณะเฉพาะตัวมาจาก (ัปัจจัย) หลายอย่าง ทั้งสัญชาติ เชื้อชาติ ชนชั้นทางสังคม ชุมชน เพศ และอื่นๆอีกมากมาย Ting-Toomey (1999) ชี้ว่า เรามีลักษณะเฉพาะตัวเบื้องต้น (Primary identities) ที่ติดมากับตัวเราตั้งแต่เกิด เช่น สัญชาติ เชื้อชาติ เพศ และลักษณะส่วนบุคคล (ซึ่งอาจถ่ายทอดผ่านพันธุกรรม) และเราก็มีลักษณะเฉพาะตัวในแต่ละสถานการณ์ (Situational identities) ได้แก่ บทบาท หน้าที่ (หัวโขน) ความสัมพันธ์ ภาษาที่ใช้เป็นต้น 

ลักษณะเฉพาะตัวของเราได้มาจากการเรียนรู้ จากการได้สัมผัส พูดคุยกับคนอื่นในสังคม (Ting-Toomey, 1999) อย่างไรก็ตามลักษณะเฉพาะตัวเหล่านี้ก็อาจสังเกตได้จากวัตถุที่เรามีใช้ มีติดตัวด้วย 

ฟังดูคำว่า "วัตถุ" คงจะงงๆอยู่ 

เอาเป็นว่าวัตถุ ก็เหมือน Hardware นั่นแหละ (ส่วนใจของเราที่จะบอกได้ว่าเรามีลักษณะเฉพาะตัวอย่างไรนั้นถือเป็น Software ละกัน) มีทั้ง เสื้อผ้า อาภรณ์ มือถือ วอล์คแมน ถ้าจะให้ลึกแล้ว รูปร่าง หน้าตาของเราก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุด้วย (คือเชื่อว่าร่างกายของเราเป็นสสารอย่างหนึ่ง ใจเป็นพลังงานอะไรทำนองนั้น) การแต่งตัว และอุปกรณ์ประกอบ (เช่นกระเป๋า มือถือ เครื่องประดับ ฯลฯ) เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเป็นเรา 

นักวัฒนธรรมศึกษาใช้ความหมายเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะตัว หรืออัตลักษณ์มาศึกษา การบริโภค การดิ้นรนของชนชั้นต่างๆ สิทธิสตรี จ๊ะ

แต่คำถามที่ใหญ่กว่า ความหมายของคำว่าอัตลักษณ์คือว่า เราควรศึกษาเรื่องอัตลักษณ์ไหม?

อาจารย์ชา สุภัทโท เคยตั้งปริศนาธรรมว่า คนๆหนึ่งเมื่อเขาเป็นเด็ก กับเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่ ถามว่าคนๆนี้คือคนๆเดียวกันหรือไม่

อาจารย์ชา เฉลยว่า หากมองในมุมๆหนึ่ง เขาคือคนๆเดียวกัน แต่ถ้ามองจากอีกมุมๆหนึ่ง เขาคือคนๆละคนกัน

ท่านว่าของท่านไว้แค่นี้แหละ

ถ้าจะตีความ ก็อาจบอกว่า ในมุมมองทางกฎหมาย คนๆหนึ่งตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่เขาคือคนๆเดียวกัน แต่ถ้ามองจากกายภาพ ความคิดอ่าน วุฒิภาวะทางใจของเขา เขาคือคนๆละคนกัน

นี่แหละเมื่ออัตลักษณ์พบกับไตรลักษณ์จะเกิดอะไรขึ้น?

(บางคนยังงงๆว่าไตรลักษณ์คืออะไร ตอบก่อนว่าคือลักษณะทั้งสามของสรรพสิ่งคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือไม่มีอะไรเที่ยงแท้ แน่นอน ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกข์ และไม่มีตัวตนตามลำดับ)

ถามว่าแล้วทำวิจัยเรื่องอัตลักษณ์ที่จะทำให้คนทำ คนอ่านพ้นทุกข์ไหม? ถ้าทุกข์คือความอยากรู้ ก็พ้นทุกข์ 

แต่ถ้าทุกข์คือการค้นหาวิธีที่จะทำให้สังคมดีขึ้น ก็ตอบยากเหมือนกัน