ทำไมต้องวิจัยเชิงคุณภาพ?

การเรียนรู้ถึงการใช้ระเบียบวิธีวิจัยโดยไม่ได้เข้าถึง ญาณวิทยา (ทฤษฎีแห่งความรู้ ว่าด้วยการรับรู้ของมนุษย์) และความเป็นวิชาการนั้นไม่เหมือนกับการเรียนกีต้าร์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องทราบถึงว่าใครคือต้นแบบของการเล่นแบบต่างๆ เราอาจจะสามารถจับคอร์ดเล่นเองได้ แต่ก็ยังไม่มีความรู้พื้นฐาน เช่นประเภทของการเล่นกีต้าร์ อรรถรสของเพลง ข้อจำกัดและเสรีภาพของสไตล์

เรื่องเหล่านี้ก็อุปมาอุปมัยเหมือนกับการเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับการทำงานวิจัยเชิงคุณภาพ องค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนทัศน์การตีความมีพัฒนาการด้านปรัชญาในตัวของมันเอง รวมทั้งวิธีการพิสูจน์ต่างๆเพื่อเข้าใจพฤติกรรมการสื่อสารในยุคศตวรรษที่ 20 ปรัชญาเหล่านี้ประกอบด้วย วิธีการมานุษยวิธี (Ethnomethodology) การปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ (Symbolic interactionism) การศึกษาชาติพันธุ์วรรณนาด้านการสื่อสาร (Ethnography of communication) สัญญะวิทยา (Semiotics) และ วัฒนธรรมศึกษา (Cultural studies) แต่เราขออุ๊บอิ๊บ ไม่เขียนถึงปรัชญาเหล่านี้ ในส่วนต่อไปจะปูพื้นฐานเกี่ยวกับการวิจัยเชิงคุณภาพให้คุณๆรู้จักก่อน 

ศาสตร์ของการวิจัยเชิงคุณภาพ

คำอธิบายอย่างที่เรามองหาในการวิจัยเชิงคุณภาพคือเรื่องเกี่ยวกับความเข้าใจไม่ใช่เรื่องการคาดการณ์หรือการควบคุม เหมือนกับการวิจัยเชิงปริมาณ  การศึกษาชาติพันธุ์วรรณาเกิดขึ้นเมื่อผู้วิจัยต้องการอธิบายถึงวัฒนธรรมต่างๆที่ดำเนินไปตามหลักการทางสังคม ภาษา และเรื่องเหนือธรรมชาติที่แตกต่างไปจากวัฒนธรรมของตน การมีส่วนร่วมในระยะยาวเป็นเรื่องที่สำคัญในการเรียนรู้ภาษา ให้คำอธิบายถึงคำที่ใช้เรียกญาติพี่น้อง และการนำเอาตัวอย่างวัตถุจากสังคมวัฒนธรรมนั้นมาวิเคราะห์ การมีส่วนร่วมเช่นนั้น ทำให้นักวิจัยได้เรียนรู้เกี่ยวกับความหมายของพิธีกรรมและรูปแบบของสัญลักษณ์อื่นๆที่ไม่สามารถจะบอกได้ล่วงหน้าแต่เกิดขึ้นมาจากความพยายามของนักวิจัยที่จะเรียนรู้

ลักษณะการมีส่วนร่วมในระยะยาวและการค่อยๆเรียนรู้ภูมิปัญญาของวัฒนธรรมนั้นทำให้เกิดการสรุปผลด้วยการอุปนัย (Inductive) หรือปะติดปะต่อเรื่องต่างๆเข้าด้วยกัน การสรุปผลจากการอุปนัยข้อมูลจะค่อยๆพัฒนาเป็นแนวคิดและข้อเสนอ (Proposition) โดยผ่านทักษะในการทำความเข้าใจ นักวิจัยจะสามารถเข้าใจว่าอะไรคืออะไรก็ต่อเมื่องานของเขานั้นใกล้ที่จะสิ้นสุดแล้ว อย่างไรก็ตามศาสตร์ที่เป็นแบบภวนิยม (Objectivism) เองก็ไม่สามารถจะใช้หลักการนิรนัย (Deductive) ได้ การวิเคราะห์เชิงคุณภาพก็ไม่สามารถที่จะใช้หลักการเชิงอุปนัยได้ทั้งหมดในกระบวนการอนุมานหรือการสรุปหาเหตุผลเช่นกัน นักวิจัยจึงต้องเริ่มการเรียบเรียงด้วยการทบทวนวรรณกรรม และทดสอบแนวคิดรวมทั้งข้อเสนอที่เกิดมาจากประสบการณ์ภาคสนาม

แบบฝึกหัดการอนุมานความหมาย

  • Bus station คือที่จอดรถเมล์

  • Train station คือที่จอดรถไฟ

  • Work station คือ...

การตีความเชิงคุณภาพเกิดจากการวิเคราะห์กรณีศึกษาอย่างทะลุปรุโปร่ง ความรู้ที่ได้จากครอบครัว วัฒนธรรมย่อย (Subculture) องค์กร ชุมชนหรือบุคคลจะถูกจดบันทึกไปตามความเข้าใจของผู้เขียน กรอบของการวิจัยนี้เรียกว่า Idiographic [sic] ซึ่งตรงข้ามกับ Nomothetic เราสามารถนำเอาผลของการวิจัยเชิงคุณภาพนี้ไปใช้กับกรณีอื่นได้ แต่ต้องไม่อยู่ภายใต้กฏที่มีลักษณะครอบจักรวาล คือไม่ได้นำไปใช้ได้ทุกๆกรณีไป ความอุดมสมบูรณ์ของข้อมูลส่วนประกอบต่างๆที่ได้รับการจดบันทึกไว้ และรูปแบบหรือแก่นสารที่ปรากฏ ทำให้นักวิจัยสามารถนำเอาเรื่องเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้กับกรณีที่มีปัญหาเหมือนๆกันในวัฒนธรรมที่ใหญ่กว่าได้ ด้วยการขยายความหมายไปสู่เรื่องของประวัติศาสตร์และกรอบอ้างอิงอื่นๆ เราสามารถเปรียบเทียบการตีความและความหมายรวมทั้งการกระทำจากวัฒนธรรมหนึ่งไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่งได้ สิ่งเหล่านี้ต่างไปจากการสุ่มตัวอย่างประชากร การประยุกต์มาตรการและการคาดการณ์ค่านิยมทั่วไปของประชากร สิ่งที่คำอธิบายเหล่านี้พยายามให้คำตอบไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นสากลหรือเรื่องกลไกที่ไม่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อพฤติกรรม

ทฤษฎีด้านการวิจัยเชิงคุณภาพประกอบด้วยวิธีการทำความเข้าใจ และจับความเป็นเหตุเป็นผลในเรื่องเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของพฤติกรรมมนุษย์ที่ดูเป็นเรื่องต่างวัฒนธรรม ซ่อนเร้น ธรรมดา สับสน ความมีจริยธรรมหรือไม่มีจริยธรรม ความมีเหตุผล ณ ที่นี้หมายถึงความสามารถทางการใช้เหตุผลที่สมาชิกของสังคมๆหนึ่งใช้ในการแสดงออก ซึ่งต่างไปจากความเป็นคนที่มีเหตุผล นั่นคือการกระทำทั้งหลายนั้นเกิดจากความคิดเกี่ยวกับโลกที่ไม่สามารถบอกถึงความถูกผิดหรือยืนยันได้ (Shweder, 1984) การต่อสู้ดิ้นรนของชาวพั้งค์ในอเมริกา ช่วงกลางยุค 1980 ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็นับว่าเป็นตัวอย่างอย่างหนึ่ง การแสดงออกด้านการทำตัวให้แปลกแยกออกไปเกิดจากความเชื่อบางอย่างว่าการเมืองมีไว้เพื่ออะไรและมีไว้เพื่อใคร

ในเรื่องเกี่ยวกับความมีเหตุผลของผู้คนนั้น เราให้ความสนใจกับตรรกะและหลักฐานที่เขาคิดว่ามีคุณค่าพอหรือใช้ได้ เราต้องไม่ใช้ความคิดของเราในการชี้ว่าอะไรถูกหรือผิดเมื่อทำการวิจัย เป็นไปได้ว่ากลุ่มที่เราศึกษานั้นเห็นว่าประเพณีของเขาเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลและเบี่ยงเบน จากสถานการณ์เช่นนั้นทำให้นักวิจัยจะต้องสืบสาวราวเรื่องให้ลึกลงไปอีกเพื่อที่จะเข้าใจเหตุผลในการแสดงออกซึ่งสิ่งเหล่านั้น นักวิจัยจึงจำเป็นต้องเข้าใจความเป็นจริงของกลุ่มคนที่เราศึกษา

การวิจัยเชิงคุณภาพที่พยายามเข้าใจเหตุผลของผู้คนในการนำเอากรณีแต่ละกรณีที่ทำวิจัยไปใช้นั้น เราต้องนำเอากรอบอ้างอิงมาใช้ด้วย อาทิแนวคิดด้านการสื่อสาร เราใช้กรณีศึกษามาเป็นตัวบอกถึงการโต้แย้งกันระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติในเชิงจริยธรรม ลัทธิความเชื่อ นโยบาย การปฏิสัมพันธ์ในสังคม หรือ การสัญลักษณ์เพื่อสื่อสาร การใช้กรณีศึกษามาเป็นตัวแทนนั้นเกิดจากความสามารถของนักวิจัยในการแปลความหมายของการกระทำให้ออกมาในรูปภาษาและกลุ่มปัญหาการวิจัยที่พวกเราในแวดวงนิเทศศาสตร์คุ้นเคยกัน

ประการสุดท้าย การที่นักวิจัยเข้าไปมีส่วนร่วมกับชีวิตคนอื่นนั้นทำให้มีความแตกต่างไปจากการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ที่เน้นการปราศจากความผิดพลาด เนื่องจากนักวิจัยไม่ใช่คนในท้องถิ่นที่เขาเข้าไปศึกษา นักวิจัยจึงมีอิสระในการที่จะมองวัฒนธรรมนั้นด้วยแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งได้ Agar เรียกนักวิจัยเหล่านี้ว่าพวก “คนแปลกหน้ามืออาชีพ” นักวิจัยเองก็ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจใดๆในสังคมเวลาที่มีเรื่องมีราวเกิดขึ้น การอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้เกิดขึ้นได้หลายๆกรณี อาทิ นักวิจัยสมควรหรือไม่ที่จะทำตัวให้เหมือนกับคนในท้องถิ่นทุกกระเบียดนิ้วหรือว่าควรที่จะสร้างความใกล้ชิดกับคนใดคนหนึ่ง ควรที่จะเก็บเนื้อเก็บตัวและไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ร้ายแรงเพื่อที่จะรักษาสถานภาพการเป็นนักวิจัยหรือจะยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ควรที่จะปิดบังความหมายอันแท้จริงของสังคมนั้น หรือรายงานทุกสิ่งทุกอย่างออกมาแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์หรือมีความละเอียดอ่อนก็ตาม นักวิจัยคงจะปฏิเสธในสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ และจำต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหล่านี้ไม่มากก็น้อย

สงสัยจะงงไปหมดแล้ว เอาเป็นว่างานวิจัยเชิงคุณภาพนี่ ตัวนักวิจัยเป็นศูนย์กลางของการวิเคราะห์ วิจารณ์ โดยใช้วิจัยอยู่สามสี่ ประเด็น ได้แก่ กระบวนการ บทบาท กฎเกณฑ์ ความหมาย เพราะงานวิจัยเชิงปริมาณหมดปัญญาที่จะทำได้… งานกระบวนการต้องอาศัยการศึกษาที่ใช้เวลา ส่วนบทบาท กับกฎเกณฑ์นี่คล้ายๆกัน เราจะรู้เรื่องราวเหล่านี้ด้วยการวิเคราะห์อย่างรอบคอบจะให้ตอบแบบเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย คงจะเป็นไปบ่ได้ ส่วนความหมายยิ่งเป็นเรื่องที่เราเรียกว่า Subjective หรือเป็นเรื่องเฉพาะตัวมาก แต่ละคนตีความหมายแต่ละอย่างต่างๆกันออกไป แบบว่า สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นดารา อีกคนกลับมาเห็นโคลนตม ทำนองนั้น

ถ้าคุณจะหาเหตุ-ผล ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ความแตกต่าง (ที่วัดได้) ระหว่างกลุ่ม วิธีที่ดีที่สุดคือการวิจัยเชิงปริมาณ อ้อ… ถ้าอยากจะศึกษาหาเหตุ-ผลก็ได้นะ แต่ว่าจะต้องมีทฤษฎีรองรับอย่างเป็นกิจลักษณะ แล้วก็อย่าลืมว่าเราไม่สามารถเอาผลการวิจัยเชิงคุณภาพไปใช้กับกรณีอื่นๆได้ทั้งหมด

วิจัยเชิงปริมาณ - ฟิสิกส์ประยุกต์

นักฟิสิกส์กำลังใช้กราฟเส้นชี้ให้เห็นว่าความเร็วของเสียงไม่ได้เดินทางด้วยความเร็วที่เท่ากัน ระหว่างคำซุบซิบนินทากับข้อมูลข่าวสาร

คุณๆที่สนใจทำวิจัยเชิงคุณภาพก็พึงสังวรณ์ถึงประเด็นทั้งสี่ให้ดีด้วยนะ เวลา อ. ที่ปรึกษาถามว่าทำไมจะทำวิจัยเชิงคุณภาพ ไม่ทำวิจัยเชิงปริมาณต้องตอบได้นะ…

อืมม์… ถ้าหาคำตอบที่จะบอก อ. ที่ปรึกษา ว่าทำไมเราถึงมาวิจัยเชิงคุณภาพ แนะให้มุขนึง…“I am mathematically impaired!” หรือในภาษาไทย “หนู/ผมมีความพิการทางคณิตศาสตร์” ความจริงเป็นสิ่งม่ายตาย…

ปล.

อ้อ...มีตัวอย่างงานวิจัยเชิงคุณภาพด้วยนะ เรื่อง สื่อโฆษณาในมิติทางวัฒนธรรม อืมม์… งานนี้เอามาจากผู้หวังดีจากธรรมศาสตร์ ส่งไฟล์ที่ อ. สมสุข หินวิมาน (ที่หมู่นี้หล่อจนแก้มยุ้ยแล้ว) กับ คุณวิริยะ สว่างโชติคุยกันไว้แต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ผู้น้อยจึงขอนำมาเผยแพร่ ณ ที่นี้ หุหุหุ เนื่องจากไม่อยากให้คุณๆขยันน้อย เราจึงทำเป็นไฟล์ Acrobat ซึ่งอนุญาตให้ print ได้ แต่ copy และ paste ไม่ได้ ใครอยากอ่านก็ Download หรือ เปิดอ่านจากเว็บเราได้จ๊ะ  โหลดไฟล์

แปลและเรียบเรียงจาก

Lindlof, Thomas R. (1995). Qualitative communication research methods. Thousand Oaks CA: Sage. Chapter 2: Sources of the interpretive paradigm.

Feldman, Martha S. (1995). Strategies for interpreting qualitative data. Thousand Oaks, CA: Sage.