ทฤษฎี

ฉบับที่ 2/2545

ทุนวัฒนธรรมตามแนวคิดของ Bourdieu

ทุนวัฒนธรรมคือกระแสสังคมที่ตั้งอยู่บนความรู้ ความคุ้นเคย และรู้สึกกับสิ่งที่เกิดขึ้นและวิถีของวัฒนธรรมที่ครอบงำหรือมีอำนาจในสังคมนั้น เป็นเรื่องธรรมดา ทุนวัฒนธรรมรวมไปถึงภูมิหลังของครอบครัว สถานภาพทางสังคม การลงทุนและความผูกพันกับการศึกษา และทรัพยากรอื่นๆ ที่มีผลต่อความสำเร็จด้านวิชาการ

Bourdieu แบ่งรูปแบบของทุนทางวัฒนธรรมเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ 

  1. ขั้นเป็นรูปเป็นร่าง (Embodied state) 
  2. ขั้นเป็นชิ้นเป็นอัน (Objectified state) 
  3. ขั้นเป็นสถาบัน (Institutionalized state)

ในมุมมองของ Bourdieu เขาเห็นว่าทุนวัฒนธรรมในขั้นเป็นรูปเป็นร่างเกี่ยวข้องตรงๆเลยกับบุคคลและสื่อให้เห็นว่าเขารู้อะไร และทำอะไรได้ ทุนวัฒนธรรมในขั้นเป็นรูปเป็นร่างนี่จะเพิ่มขึ้นได้ด้วยการลงทุนลงเวลาในการพัฒนาตนเองด้วยการเรียนรู้ เมื่อทุนในขั้นเป็นรูปเป็นร่างนี้เป็นส่วนหนึ่งของบุคคลแล้ว จะกลายเป็นนิสัยและไม่สามารถที่จะถ่ายทอดออกมาได้ในแบบไวไวควิก คือจะถ่ายทอดให้คนอื่นได้รับรู้ได้ในพริบตาไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวคนไทย สอนให้ลูกหลานรู้จักไหว้พระ ไหว้ผู้ใหญ่ ไม่ใช้เท้าชี้สิ่งของ เดินเบาๆ เพื่อแสดงความสุภาพ

ในขั้นเป็นชิ้นเป็นอันนั้น ทุนวัฒนธรรมจะถูกสื่อผ่านสินค้าวัฒนธรรม เครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นวัตถุจับต้องได้เช่น หนังสือ ภาพเขียน อุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเครื่องจักรที่นำมาผลิตสินค้า เราสามารถเชื่อมโยงวัตถุเหล่านี้เข้ากับทุนทางเศรษฐกิจ และการสื่อความหมายเกี่ยวกับทุนวัฒนธรรมในขั้นเป็นรูปเป็นร่างด้วยสัญลักษณ์ทางวัตถุเหล่านี้ 

ในส่วนของทุนวัฒนธรรมขั้นเป็นสถาบันนั้นให้ความน่าเชื่อถือทางวิชาการและแสดงคุณสมบัติที่สร้าง “ใบรับรองทางความสันทัดทางวัฒนธรรม (Certificate of cultural competence) ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ถือได้รับประกันอำนาจตามธรรมเนียม ตามศรัทธา และตามกฎหมาย” คุณสมบัติทางวิชาการเหล่านี้สามารถนำไปใช้เพื่อการแลกเปลี่ยน (ปริวรรต) ระหว่างทุนวัฒนธรรมกับทุนทางเศรษฐกิจได้ ยกตัวอย่างเช่น การเรียนสูงๆ ก็เพื่อที่จะได้ปรับวุฒิ ปรับยศ หรือนำไป "ขึ้นค่าตัว" เวลาหางานทำ 

การสะสมทุนวัฒนธรรม เริ่มขึ้นเมื่อลูกหลานได้รับการถ่ายทอดทุนทางวัฒนธรรมจากครอบครัว Bourdieu เห็นว่าพ่อแม่ และครอบครัวเป็นผู้ที่ลงทุนทางวัฒนธรรมคนสำคัญให้กับลูกหลาน ผ่านการศึกษา

การที่เรามีการศึกษาดีนั้น เชื่อกันว่าทำให้ช่องว่างในสังคมลดลง อย่างไรก็ตาม Bourdieu เห็นตรงข้ามว่า  การศึกษาเป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำให้ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมลดลง แต่เป็นเครื่องมือที่ทำให้ความไม่เท่าเทียมกันเหล่านี้เป็นเรื่องชอบธรรมไปเสียอีก  ระบบการศึกษาเป็นสิ่งที่ทำตามหน้าที่ทางสังคมและการเมือง นั่นคือทำให้ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมเป็นเรื่องถูกต้อง 

Bourdieu ยังนำเอาเรื่องเกี่ยวกับทุนวัฒนธรรมนี้มาเชื่อมโยงกับความสุนทรีย์ (Aesthetic) เช่น รสนิยม (Taste) ทางศิลปะ เป็นต้น เพื่อมาอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริโภค ซึ่งถูกเอามาใช้แบ่งชนชั้นในสังคม คือ  ชนกลุ่มน้อยมักจะถูกครอบงำด้านรสนิยมด้วยชนกลุ่มใหญ่ ไม่ต้องดูอะไรมาก เอาแค่เรื่องรายการทีวีหลังข่าวภาคค่ำ เรามีฟรีทีวี 6 ช่อง 4 ช่องเป็นละครน้ำเน่ามั่ง ไม่เน่ามั่ง (ถ้าวันเสาร์ก็มี 5 ช่องแหนะ) ITV ที่ว่าแน่ๆ เป็นสถานีข่าวก็ยังมาเล่นกับเขาด้วย ที่เขาเอาละครพวกนี้มาออกนี่ ก็คงเพราะรสนิยมชนกลุ่มใหญ่ในเมืองไทยยังชื่นชอบละครแบบนี้ ก็แค่นั้นเอง...

สรุปง่ายๆว่า Bourdieu เห็นว่าการศึกษาคือตัวแบ่งแยกความแตกต่างของคนในสังคม  ทุนทางวัฒนธรรมที่ถูกถ่ายทอดมาจากครอบครัวและระบบการศึกษานั้น มีหลายระดับตั้งแต่ระดับบุคคล ไปจนถึงโครงสร้างใหญ่ของสังคม อย่างระบบการศึกษา 

เราเอาแนวคิดของ Bourdieu ไปทำอะไรดีล่ะ 

เอาไว้วิพากษ์สังคมรึ ก็ได้ อย่างเรื่องของการเรียนหนังสือสูงๆที่พ่อแม่พร่ำสอนลูกเหลือเกินว่า "เรียนสูงๆนะลูกนะ ข้างหน้าจะได้เป็นเจ้าคนนายคนเขา" (ทุนขั้นเป็นรูปเป็นร่าง)  กับการฉกฉวยโอกาสของบรรดามหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน ที่เอานักเรียนยัดทะนานเข้าไปเรียนในห้องเรียนกันเป็น 100 คนหรือมากกว่านั้นในระดับ ป. ตรี หรือตก 50 กว่า 60 กว่าคนในระดับ ป. โท จนทำให้เมืองไทยเกิดอุตสาหกรรมการศึกษาขึ้นมา อย่างดาดดื่น จนไม่รู้เรียนออกมาแล้วคุณภาพอยู่ตรงไหน 

หรือจะเอาไว้ศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างสินค้าที่เป็นทุนวัฒนธรรม อย่างสินค้าท้องถิ่น กับทุนเศรษฐกิจก็ได้ เช่นการขายของที่ระลึกที่มาจากถิ่นอื่นๆ แล้วตบตานักท่องเที่ยวว่าเป็นของถิ่นนี้แหละ... บทบาทของการโปรโมตการท่องเที่ยวของ ททท. บทบาทของโลกาภิวัตน์ ฯลฯ ในการเสี้ยมสอนให้คนเอาเรื่องการท่องเที่ยวมาบังหน้า เพื่อขายสินค้าวัฒนธรรมถิ่นสารพัดชนิด 

เอ... ทฤษฎีนี้ เอาไว้แฉเบื้องหลังชาวบ้านเขา จะดีเร้อ... ถ้างั้นก็ลองมาศึกษาการพนันกับฟุตบอลสิ โดยเข้าสมการว่า 

  • ฟุตบอล = ทุนวัฒนธรรม
  • การพนัน = ทุนเศรษฐกิจ (หรือหนี้สินก็ไม่รู้?) 
  • ฟุตบอล + การพนัน = ทุนวัฒนธรรม + ทุนเศรษฐกิจ = ?

ปล. Bourdieu นิยามคำว่า Economic capital และ Social capital ไว้ดังนี้

ทุนทางเศรษฐกิจคือทุนที่อยู่ในรูปของเงิน รูปของสินทรัพย์ ซึ่งพร้อมที่เปิดประตูไปหาทุนทางสังคมและทุนวัฒนธรรม

ทุนทางสังคมคือเรื่องเกี่ยวกับขนาดหรือความสัมพันธ์กับผู้คนที่อยู่ในลักษณะเครือข่าย ทรัพยากรที่มีสะสมไว้ และความพร้อมที่นำเครือข่ายและทรัพยากรทางวัฒนธรรรมและเศรษฐกิจเหล่านี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์

References:

Storey, John (1999). Cultural consumption and everyday life. London, UK: Arnold.