Le CAFE
Services
OurBirth
Perspectives on communication studies
Editor's views
Editors
Front page!
Collection of articles
Join the discussion
Your feedback
CAFE E-Newsletters

คอฟฟี่เบรค

ภาพข้างบนคือพระอิศวรปางปราบอสูรมูลาคนี หรือปาง ศิวะนาฏราช (Nataraja) ปางนี้จะเห็นพระอิศวรยืนเหยียบอสูร กรทั้งสี่ถือสิ่งของต่างๆกัน กรข้างขวาถือกลอง อีกกรหนึ่งทำมือแบ หมายถึงว่าไม่กลัว กรข้างซ้ายกรหนึ่งถือเปลวไฟ กรอีกกรหนึ่งชี้ลงไปที่ยักษ์มุยะละกะ หรืออสูรมูลาคนี
ศิวะนาฎราช เป็นรูปบูชา พระอิศวร ซึ่งมีที่มาจากตำนานครั้ง พระอิศวรทรงแสดงอิทธิฤทธิ์ ร่วมกับพระนารายณ์ แปลงกายเป็นโยคีหนุ่มรูปงาม (พระอิศวร) พร้อมกับภรรยาสาว (พระนารายณ์) ลงมาปราบเหล่าฤๅษีผู้ทำการอนาจาร ผิดบัญญัติพระผู้เป็นเจ้า
เหล่าฤๅษีพยายามห้อมล้อมนางนารายณ์ และภรรยาฤๅษีก็สนใจโยคีหนุ่ม แต่เทพทั้งสองหาได้ใส่ใจไม่ จากความหลงกลายเป็นความแค้น ฤๅษีพากันสาปแช่งเทพทั้งสอง นิรมิตให้เสือทำร้าย ให้นาคพ่นพิษใส่ แต่ก็ไม่เป็นผล  
ในที่สุดเหล่าฤๅษีหมดท่าไม่สามารถจะสู้รบ ปรบมือกับเทพทั้งสองอย่างไรแล้ว พระอิศวรจึงได้ฟ้อนรำ ทำปาฏิหารย์ต่างๆ 
ขณะร่ายรำก็มียักษ์ตนหนึ่งชื่อ ยักษ์มุยะละกะ  (Muyalaka) เข้ามาช่วยเหลือเหล่าฤๅษีต่อกรกับพระอิศวร  องค์อิศวรเจ้า จึงเอาพระบาทข้างหนึ่งเหยียบยักษ์ค่อมไว้ แล้วฟ้อนรำต่อไปจนหมดกระบวนท่ารำ 
พวกฤๅษีเห็นฤทธิ์ดังนั้นก็ยอมรับผิด และทูลขอขมาเทพทั้งสองในที่สุด 
จาก เทวนิยาย โดย ส. พลายน้อย (2540) หน้า 18-20

 

เทวนิยาย พระอิศวรและสื่อสารมวลชน 

ในสังคมข่าวสารข้อมูล ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้คนไทยยังรู้จักเรื่องราว เกี่ยวกับเทวนิยายของศาสนาพราหมณ์กันบ้างหรือเปล่า เรารู้จักพระพรหม พระนารายณ์ (พระวิษณุ-Vishnu) และพระอิศวร (พระศิวะ-Shiva) ดี โดยมี พระพรหมทรงเป็นพระผู้สร้าง พระนารายณ์ทรงเป็นพระผู้รักษา และพระอิศวรทรงเป็นพระผู้ทำลาย แม้ว่าปัจจุบันผู้คนจำนวนมากจะเห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเหลวไหล แต่เทพเหล่านี้ก็ยังมีผู้กราบไหว้ในอิทธิฤทธิ์ ความศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละองค์ 

แทนที่เราจะมาถกเถียงกันว่าเทพเหล่านี้มีจริง หรือศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่ เราน่าจะใช้เรื่องราวเกี่ยวกับหน้าที่ของเทพแต่ละองค์ มาเป็นอุทาหรณ์สอนใจเกี่ยวกับธรรมชาติของสรรพสิ่ง บทความนี้จะกล่าวถีงตำนานพระอิศวรก่อน  

ที่เราเรียกพระอิศวรว่าเป็นพระผู้ทำลาย อาจเป็นเพราะพระอิศวรทรงเป็นผู้ที่มีอิทธิฤทธิ์มาก และมักประทานพรให้กับผู้ที่ขอนั้น ไปเพื่อการทำลายเสียมาก เช่น กรณีของนนทก เทวดาอาภัพผู้ซึ่งถูกเทวดาที่เขาล้างเท้าให้แกล้งต่างๆนานาจนทนไม่ได้ นนทุกได้ไปขอให้พระอิศวรประทานนิ้วซึ่งสามารถชี้ให้ผู้อื่นตายได้ แต่นนทกก็ใช้พรนั้นไปจนเกินสมควร กระทั่งเดือดร้อนพระนารายณ์ต้องปลอมพระองค์เป็นนางเทพอัปสร แล้วหลอกล่อนนทกให้ร่ายรำตามจนเผลอชี้นิ้วเข้าใส่ตัว จนตัวตาย (ส. พลายน้อย, 2540)

ทันทีที่ได้ยินคำว่าทำลาย เรามักคิดถึงสิ่งที่ไม่ดี หรือความหมายในเชิงลบทางอื่นๆ อย่างไรก็ดีสิ่งที่พระอิศวรทรงทำลายนั้น เชื่อว่าทรงทำลายความไม่ดีลง เพื่อที่สิ่งใหม่ๆที่ดีกว่าจะได้เกิดขึ้นมาทดแทนได้ (อดิศักดิ์ ทองบุญ, 2532) การทำลายสรรพสิ่งในระบบนั้นก็เปรียบเสมือนสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า Entropy ของระบบ หรือ ความเสื่อมที่เกิดขึ้นในระบบนั่นเอง 

จากความรู้เปรียบเทียบระหว่างเทพนิยายในศาสนาพราหมณ์กับ ความรู้สมัยใหม่ด้านความคิดกระบวนระบบ (System theory)  ทำให้เราต้องหันมามองรอบๆตัวกันบ้างว่า ปัจจุบันเรามีอะไรที่ทำให้เกิด Entropy ในสังคมได้บ้าง หนึ่งในสถาบันที่สร้าง Entropy ได้ไม่ยากเย็นคือ สื่อมวลชน นั่นเอง สื่อทำหน้าที่คล้ายๆกับ พระอิศวรโดยไม่รู้ตัว คือทำลายของเก่าเพื่อเปิดโอกาสสิ่งใหม่เกิดขึ้นมาในสังคมได้ สื่อมักเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน เข้าข้างกับคนที่เดือดร้อนและประทานพรอันประเสริฐกับผู้ที่ฟ้องสื่อนั้น พรที่ให้นั้นก็คือการทำลายสิ่งที่สื่อ "คิดว่า" ต้องได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อมวลชนหลายประเภทใช้อิทธิฤทธิ์ของตน กำหราบ ผู้คน และสถาบันต่างๆในสังคม เหมือนกับนนทุกใช้พรจากพระอิศวรไปในทางที่มิชอบ จากการกระทำหลายๆกรณีที่สื่อ "ทำร้าย" ความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยการพาดหัวข่าว รูปภาพ และบทวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้เราตั้งคำถามต่อสื่อคือ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากสื่อสร้าง Entropy นั้นเป็นสิ่งใหม่ซึ่งพึงประสงค์หรือไม่ 

จริงอยู่ที่คงไม่มีใครไหว้ความศักดิ์สิทธิ์ และอิทธิฤทธิ์ของสื่อ ในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ดังเช่นที่ชาวบ้านเขากราบไหว้พระอิศวรกัน แต่สื่อน่าจะมีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคมได้ดีกว่าการบอกว่าการทำงานของตนนั้น อาจบกพร่องได้เพราะเป็น "วรรณกรรมเร่งรีบ" อำนาจการทำลายของสื่อนั้นอาจจะไม่เทียบเท่าอิทธิฤทธิ์ ของพระอิศวร แต่ซึมลึก และกินวงกว้าง  คงจะเป็นหน้าที่ของผู้ที่ศึกษาวิจัย ด้านการสื่อสาร-นิเทศศาสตร์ ที่จะชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของสื่อที่มีต่อสังคม ทั้งแง่บวกและลบ ด้วยทฤษฎีเชิงโครงสร้างนียม ทฤษฎีวิพากษ์ หรือ ปรัชญาด้านจริยธรรม (ethics) ต่อไป 

ขอความสุขสวัสดีจงมีแต่ท่านผู้บริโภคสื่อเทอญ! 

หนังสืออ้างอิง

ส. พลายน้อย. (2540). เทวนิยาย (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: รวมสาส์น.

อดิศักดิ์ ทองบุญ (2532). ปรัชญาอินเดีย (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.


กฎ กติกา มารยาท

การร่วมวงเสวนา: CAFE de Thailande ยินดีต้อนรับบทความเสวนาทั้งภาษาไทยและ English ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสื่อสาร - นิเทศศาสตร์ทุกเรื่องทุกประเด็นไม่ว่าจะเป็นบทความทั่วไป บทความวิชาการ บทคัดย่อ ประกาศ  การ แนะนำหนังสือและ Web site การแสดงความคิดเห็น คำถามและคำอภิปราย การร่วมเสวนานี้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และไม่ต้องสมัครเป็นสมาชิกใดๆทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี บทความเสวนาที่ส่งมานั้นจะได้รับการนำเสนอต่อสาธารณะเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยส่งบทความร่วมเสวนามาที่ cafethai@yahoo.com <mailto: cafethai@yahoo.com> โดยระบุชื่อ นามสกุล และ e-mail จริง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการนำเสนอข้อมูลและสะดวกสำหรับผู้อื่นที่จะติดต่อกลับได้โดยตรง

การแสดงความคิดเห็น และคำอภิปรายใดๆของผู้ร่วมเสวนา จะเป็นไปตามหลัก Free Speech คือทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและพร้อมที่จะรับฟังคำโต้แย้งด้วย พร้อมกันนี้ผู้ร่วมเสวนาต้องพร้อมที่จะแสดงความรับผิดชอบทางกฎหมาย หากคำอภิปรายนั้นไปละเมิดผู้อื่น และมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น 

ลิขสิทธิ์บทความเสวนา: บทความทุกบทความใน CAFE de Thailande สามารถนำไปเผยแพร่ต่อไปได้โดยเสรี ในลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้า หากต้องการอ้างถึงคำพูดใดๆในลักษณะของการค้า ขอให้ติดต่อขออนุญาตจากผู้ร่วมเสวนาผู้นั้นโดยตรง ยกเว้นกรณีที่ผู้ร่วมเสวนาขอสงวนลิขสิทธิ์บทความไว้ 

กองบรรณาธิการ:

พัฒนพงส์ จาติเกตุ <chatiketu@hotmail.com> และ คณะผู้ก่อการ

สิ้นสุดเนื้อหาในบทความฉบับนี้


สภากาแฟไท: CAFE de Thailande <http://www.geocities.com/cafethai>
Copyright (c) 2000 by Cafe de Thailande. 
Revised: 19 เมษายน 2000 .
Mirror site: http://www.thaiweb.co.th/cafethai