คอฟฟี่เบรก

ฉบับที่ 1/2545

บทเรียนจากการ "กำจัดจุดอ่อน"

เข้าใจว่า เกม The Weakest Link หรือ เกมกำจัดจุดอ่อน คงจะเป็นที่สะใจของใครหลายๆคนบ้างไม่มากก็น้อย เห็นพูดกันตั้งแต่นายกรัฐมนตรี นักวิชาการ สื่อมวลชน ไปจนถึงชาวบ้านอย่างเราๆท่านๆ จนทำให้คุณ กฤติกา คงสมพงษ์ เธอดังภายในชั่วข้ามคืน หลายคนปฏิเสธที่จะดูรายการนี้ หลายคน “ชอบใจ” บอกว่า “ตลกดี”

ส่วนจุดยืนของ CAFÉ de Thailande เราเห็นว่ารายการนี้เป็นรายการที่ดี เพราะเป็นการเขย่าสังคมหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจรรยาบรรณของสื่อมวลชน เรื่องการใช้วิจารณญาน เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม เราเห็นว่าก่อนที่จะมีการตัดสินใจว่ารายการนี้ควรอยู่หรือไป เราควรจะมีการสรุปบทเรียนที่ได้จากรายการนี้ก่อน

สิ่งแรกที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับรายการนี้ คือเรื่องของวิชาการกับการปฏิบัติ มีหลายคนที่ออกมาชี้ให้เห็นถึงความรับผิดชอบของสื่อมวลชนที่มีต่อสังคม หลายเสียงกล่าวว่า รายการนี้เป็นการยุยงส่งเสริมให้คนไทยพูดอะไรตรงไปตรงมาจนเกินขอบเขตวัฒนธรรมไทย พูดง่ายๆคือ เอาความไม่ดีของแต่ละคนมาด่า แล้วก็ไสหัวไป ด้วยคำพูดที่ตรงและแรง คนทำรายการก็บอกว่า เป็นเรื่องของการฝึกความอดทนภายใต้ภาวะกดดัน แต่โดยสรุปแล้วไม่ค่อยจะมีใครพูดอะไรในเชิงหลักการ เชิงวิชาการ อย่างการทดลองทางจิตวิทยา เกี่ยวกับความก้าวร้าว ที่เกิดจากการเลียนแบบพฤติกรรม หรือเรื่องพฤติกรรมภายใต้ภาวะกดดัน พูดอะไรก็ไม่รู้ที่เป็นแต่เรื่องนามธรรม ความเหมาะสม ความถูกต้องทางศีลธรรม ซึ่งแต่ละคนก็ถือหลักการที่ต่างกันออกไป เถียงกันได้ไม่มีที่สิ้นสุด

หุหุหุ

อีกเรื่องคือการบอกต่อแบบปากต่อปาก คงไม่ต้องบอกว่ารายการนี้มีชื่อขนาดไหน คนขนาดนายกรัฐมนตรีที่อุตส่าห์เจียดเวลาบริหารชาติมาดู (แล้วก็ส่ายหัว บอกว่ารับไม่ได้) เห็นมะ ดังจริงๆ แต่ในเชิงลบนะ แต่คอมเมนต์สารพัดอย่างก็ดึงดูดคนให้มาสนใจดู เพราะหลายคนได้รับคำถามจากเพื่อนๆว่า “ดูอ๊ะป่าว” อยู่นั่นแหละ อันนี้เขาก็เรียกว่า ดูเพื่อ “ตัดรำคาญ”

ความดังอย่างนี้ทำให้เรานึกถึงการทำแคมเปญของ Benetton ที่เมืองนอกเมื่อหลายปีมาแล้ว ที่ทำโฆษณาชุด United of Colors ซึ่งเน้นความ Controversial หรือ ความขัดแย้งทางสังคม อย่างเช่นเอารูปคนถูกยิงตายกลางถนนในสงครามกลางเมือง มาอยู่ในโปสเตอร์โฆษณา เป็นต้น

รายการกำจัดจุดอ่อน และแคมเปญเชิงลบของ Benetton จึงเป็นกรณีตัวอย่างซึ่งทำให้เกิดเป็นประเด็นถกเถียงในสังคม เหมือนๆกัน ใครจะคิดเอาวิธีแบบนี้ไปโปรโมตสินค้า หรือตัวเอง เพื่อให้เกิดการพูดแบบปากต่อปากก็เชิญตามสบายนะ… งานนี้เราขอคิดดูก่อนนะ

อิอิอิ

เรื่องสุดท้ายที่เราคิดว่าน่าสนใจคือ การแสดงออกของผู้คนในสังคมที่มีต่อรายการ “กำจัดจุดอ่อน” บางคนก็คอมเมนต์ได้โดยดูแค่ตัวอย่างทางทีวี หลายคนก็ไม่เคยดูแต่ก็คอมเมนต์ได้ แปลกดีเหมือนกัน

หลายคอมเมนต์เน้นเรื่องรูปแบบของรายการนี้ ที่เน้นการทำลายขวัญคนตกรอบ

หลายคนบอกว่าควรยกเลิกรายการนี้

แต่ก็มีบางคนที่ เอาเรื่องหนักๆแบบนี้ มาทำเป็นเรื่องเบาๆ

คำว่า “กำจัดจุดอ่อน” ถูกนำมาเล่นคำ ตอนพรรคชาติพัฒนาจะเข้าร่วมคณะรัฐมนตรี และต้องมีการเอา รมต. เก่าออก ซึ่งรายการวิทยุรายการหนึ่งเรียกพฤติกรรมนี้ว่าเป็นการ “กำจัดจุดอ่อน” ซึ่งเวอร์ชั่นนี้มีนายกฯ เป็นพิธีกรเอง ก็ดีสนุกไปอีกแบบ

CAFÉ de Thailande เชื่อว่าการด่าทอ ผู้จัด และทีมงานนั้น ไม่เกิดผลอะไรมากมาย เพราะเขาก็เตรียมตอบคำถามไว้ตั้งแต่ก่อนจะออกมาฉายให้เราดูแล้ว ถ้าไม่ชอบรายการจริงๆ ก็ออกมาช่วยกันคว่ำบาตรสปอนเซอร์รายการ ดีกว่า เพราะกลไกการผลิตรายการต่างๆนั้น คนที่เสียงดังมากๆคือ สปอนเซอร์ มีคนทำวิจัยสนับสนุนไว้แล้ว

เราควรจะเรียกร้องให้คนดูรายการนี้เยอะๆ แทนที่จะบอกว่าไม่ควรดู ดูแล้วก็ช่วยกันจดว่ามีโฆษณาอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้เอามาประกาศ (ประจาน?) กันให้ทั่วว่า เราควรคว่ำบาตร งดซื้อสินค้าของเขา

อ้อ… ถ้าสปอนเซอร์ยังเข้ามากขึ้น เราก็น่าจะคว่ำบาตรช่อง 3 ที่มีสโลแกนว่า “คุ้มค่า ทุกนาที ดูทีวีสี ช่อง 3” ด้วยวิธีเดียวกัน เพราะเห็นว่านับแต่วินาทีที่เริ่มรายการนี้ ทำให้ไม่คุ้มค่า ทุกนาที ที่ดูทีวีสีช่อง 3 อาจฟ้อง คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะเห็นว่า เป็นการโฆษณาเกินจริง (วิธีนี้อาจมีแนวร่วมหลายช่องก็ได้ ใครจะรู้)

อืมม์… ท่าทางน่าสนุกแฮะ

ไม่รู้สิ ไม่ว่าจะให้เลิกรายการ หรือทำต่อ เราขอสวมวิญญาณนักวิชาการ CAFÉ ชี้ให้เห็นว่าเราควรจะทำการทดสอบเชิงจิตวิทยาการสื่อสารบ้าง ประเด็นที่น่าสนใจได้แก่

    1. ความก้าวร้าว (Aggression) กับการเรียนรู้เชิงสังคม (Social learning) (ดูรายละเอียดจากส่วนของแนะนำทฤษฎี ฉบับนี้)
    2. ความสามารถในการแยกแยะระหว่างความเป็นจริงกับรายการทีวี (Parasocial interaction)

เราน่าจะมองรายการนี้อย่างเป็นธรรม ขอให้เราดูรายการนี้ อ่านคำสัมภาษณ์ผู้จัด (แม้ว่าจะเป็นเรื่องเชิงประชาสัมพันธ์ ก็ตาม) คำให้การของนักวิชาการ ขอให้ทำใจให้เป็นกลาง แล้วใช้วิจารณญาณในการรับรู้ ดีเหมือนกัน เราจะได้เอาคุณ “วิจารณญาณ” ที่อยู่ในหัวมาออกกำลังกันมั่ง…

 

กฎ กติกา มารยาท

การร่วมวงเสวนา: CAFE de Thailande ยินดีต้อนรับบทความเสวนาทั้งภาษาไทยและ English ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสื่อสาร - นิเทศศาสตร์ทุกเรื่องทุกประเด็นไม่ว่าจะเป็นบทความทั่วไป บทความวิชาการ บทคัดย่อ ประกาศ  การ แนะนำหนังสือและ Web site การแสดงความคิดเห็น คำถามและคำอภิปราย การร่วมเสวนานี้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และไม่ต้องสมัครเป็นสมาชิกใดๆทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี บทความเสวนาที่ส่งมานั้นจะได้รับการนำเสนอต่อสาธารณะเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยส่งบทความร่วมเสวนามาที่ cafethai@thaiweb.co.th <mailto: cafethai@thaiweb.co.th> โดยระบุชื่อ นามสกุล และ e-mail จริง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการนำเสนอข้อมูลและสะดวกสำหรับผู้อื่นที่จะติดต่อกลับได้โดยตรง

การแสดงความคิดเห็น และคำอภิปรายใดๆของผู้ร่วมเสวนา จะเป็นไปตามหลัก Free Speech คือทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและพร้อมที่จะรับฟังคำโต้แย้งด้วย พร้อมกันนี้ผู้ร่วมเสวนาต้องพร้อมที่จะแสดงความรับผิดชอบทางกฎหมาย หากคำอภิปรายนั้นไปละเมิดผู้อื่น และมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น 

ลิขสิทธิ์บทความเสวนา: บทความทุกบทความใน CAFE de Thailande สามารถนำไปเผยแพร่ต่อไปได้โดยเสรี ในลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้า หากต้องการอ้างถึงคำพูดใดๆในลักษณะของการค้า ขอให้ติดต่อขออนุญาตจากผู้ร่วมเสวนาผู้นั้นโดยตรง ยกเว้นกรณีที่ผู้ร่วมเสวนาขอสงวนลิขสิทธิ์บทความไว้ 

กองบรรณาธิการ:

พัฒนพงส์ จาติเกตุ <chatiketu@hotmail.com> และ คณะผู้ก่อการ

สิ้นสุดเนื้อหาในบทความฉบับนี้


CAFE de Thailande <http://www.geocities.com/cafethai>
Copyright (c) 2002 by CAFE de Thailande. 
Revised: 01 มีนาคม 2002