คอฟฟี่เบรก

ฉบับที่ 1/2546

ฉบับนี้ขอนินทานักวิชาการหน่อยเหอะ เพราะได้เห็น ได้ฟัง ได้อ่านมาก็เยอะ บางทีเราก็รู้สึกรำคาญๆเหมือนกัน เห็นด้วยมั่ง ไม่เห็นด้วยมั่ง อันนี้บันทึกไว้เพื่อเป็น Guideline สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจจะเลือกอาจารย์ที่ปรึกษา หรือที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ทำนองว่า Do's & Don'ts List ของฝรั่งเขานะ

ขอเริ่มต้นด้วย ลักษณะของนักวิชาการที่ไม่พึงปรารถนาก่อน

1. พวกใบตองแห้ง

สิทธิการิยะท่านว่า นักวิชาการเหล่านี้เป็นผู้ที่เห็นอะไรๆเป็นใบตองแห้งไปหมด คือวิจารณ์ไปเรื่อย โดยไม่ชี้ทางออกให้สังคม บางคนฉลาดน้อยแต่พูดไปราวกับว่าฉลาดมาก (โง่แต่อวดฉลาด)

2. พวกฤๅษีตกร่อง

สิทธิการิยะท่านว่า นักวิชาการเหล่านี้เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ คือทำวิจัยแนวเดียวกันตลอด โดยเปลี่ยนกลุ่มประชากร พื้นที่ และเวลา ไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรใหม่เหมือนกับแผ่นเสียงที่ตกร่อง ไม่ต่างจากฤๅษีที่รู้จักเวทย์มนต์ คาถาและบทสวดเท่าที่เรียนมา

3. พวกจิ้งจก

สิทธิการิยะท่านว่า นักวิจัยเหล่านี้เป็นผู้ที่ไม่มีจุดยืนอะไร เปลี่ยนสีไปเรื่อยๆตามสิ่งแวดล้อม เหมือนจิ้งจก อาศัยคราบนักวิชาการหากิน หาชื่อเสียง หาประโยชน์ใส่ตน ที่ไหนมีเงิน ที่ไหนมีตำแหน่ง ก็ไปทั้งนั้น เอาใจผู้หลักผู้ใหญ่สุดๆ ประเภท "ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน"

4. พวกกระสือ

สิทธิการิยะท่านว่า นักวิชาการเหล่านี้เป็นผู้ที่ทำวิจัยแล้ว ผลวิจัยไม่ค่อยกลับไปหาคนที่ตนไปเก็บข้อมูลมา อาจเป็นเพราะลืมไปว่างานที่สำเร็จนั้นเกิดเพราะชาวบ้านเขาให้ความร่วมมือด้วย อาจเป็นเจ้าของร้าน "ลืมบ้านเกิด" ของ ดีแตก ละมั้ง อ้อ…ที่เรียกกระสือเพราะว่านักวิชาการเหล่านี้มักจะลืมตัวอยู่เรื่อย เวลาไปไหนมาไหน…

5. พวก 30 บาท

สิทธิการิยะท่านว่า นักวิชาการเหล่านี้เป็นผู้ที่พูดได้ ทำได้ทุกเรื่อง เหมือนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค คือรู้ไปหมด พูดได้ทุกเรื่อง ว่ากันว่าคนที่รู้อะไรทุกเรื่องนี่ เป็นคนที่ไม่รู้อะไรจริง ไม่มีความชำนาญเฉพาะทาง เหมือนกะหมอนั่นแหละ ถ้าหมอคนนึงรักษาโรคได้ทุกโรค กรุณาระวังตัวด้วยเน้อ…

6. พวกนักวิชา (พิ) การ

สิทธิการิยะท่านว่า นักวิชาการเหล่านี้เป็นผู้ที่พูด เขียน และสอนไม่รู้เรื่องสักอย่าง คนเรียน คนอ่าน คนฟัง ไม่ได้อะไรเลย…

หากท่านเลือกนักวิชาการเหล่านี้มาเป็นที่ปรึกษา ท่านก็จะได้…

  1. วิทยานิพนธ์ใบตองแห้ง ที่งานเขียนแต่ละหน้ามีค่าเท่าใบตองแห้ง ที่ควรเอาไปมวนใบยาสูบ มากกว่านำไปอ้างอิง
  2. วิทยานิพนธ์ตกร่อง ที่ไม่มีอะไรใหม่ ยกเว้นคนทำวิจัย ที่เป็นนักวิจัยหน้าใหม่จริงๆ
  3. วิทยานิพนธ์จิ้งจก ที่ต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามใจคณะกรรมการทุกคน เพราะคนทำและคนนำไม่มีจุดยืนทางทฤษฎี
  4. วิทยานิพนธ์กระสือ ที่คนทำจะรู้สึกหวิวๆ ไม่มั่นใจในตัวเอง เหมือนเหลือแต่เครื่องในลอยไปลอยมา แล้วยังต้องรับประทาน Ego ของ อ. ที่ปรึกษาเข้าไปอีกเยอะด้วย
  5. วิทยานิพนธ์ 30 บาท ที่ขอบเขตกว้างเท่าจักรวาล แต่มีเวลาทำเท่าเวลาแปรงฟัน
  6. วิทยานิพนธ์พิการ ที่รับรองว่าสอบกี่รอบก็ไม่ผ่าน เพราะไร้สาระสุดๆ

เราว่าอาจารย์หรือนักวิชาการที่ควรจะเชิญมาเป็นที่ปรึกษา น่าจะมีลักษณะต่อไปนี้นะ

1. พวกดักแด้ห้องสมุด

สิทธิการิยะท่านว่า นักวิชาการเหล่านี้ตอนเรียน ป. เอก หรือทำ ผศ. มักจะเป็นหนอนหนังสือ ตอนจบเลยทำตัวเป็นดักแด้ หมายถึง เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ วารสารวิชาการสม่ำเสมอนะ

2. พวกฟองน้ำ

สิทธิการิยะท่านว่า นักวิชาการเหล่านี้มักจะซึมซับความรู้ใหม่ๆ จากการเข้าร่วมประชุมวิชาการเป็นนิจ ติดตามข่าวสารเนืองๆ รู้เรื่องบันเทิง ในจอแก้ว จอเงิน และวิทยุ สามารถเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ให้เราเห็นภาพรวมได้ชัดเจนขึ้น

3. พวกจอมยุทธ์

สิทธิการิยะท่านว่า นักวิชาการเหล่านี้วิชาแก่กล้า ได้เวลาเป็นจอมยุทธ์ตะลุยยุทธจักรวิชาการ ก็เลยออกสำรวจยุทธภพ เพื่อเอาสิ่งที่ได้อ่าน ได้ฟังมาฟาดฟันพวกอวิชชาทั้งหลาย ด้วยการทำวิจัยเพื่อพิสูจน์วรยุทธ บางทีก็เพื่อความเป็นจเด็จ หรือผู้ชนะสิบทิศแค่นั้นแหละ

4. พวกพระดาบส

สิทธิการิยะท่านว่า นักวิชาการเหล่านี้ไม่ปิดบังความรู้ ยินดีเผยแพร่ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการสอน การชี้แหล่งข้อมูล การให้ยืมหนังสือ หรือแนะนำโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน อาจมีคติประจำใจว่าการให้ความรู้ เหมือนกับการให้แสงสว่าง กับผู้ที่ไม่มีไฟฉายติดมือมาด้วย

5. พวกโค้ช

สิทธิการิยะท่านว่า นักวิชาการเหล่านี้ให้นักศึกษาเป็นผู้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่ และที่ปรึกษาทำหน้าที่เป็นโค้ชข้างสนาม มีหน้าที่บอกแหล่งข้อมูล และชี้ข้อดีข้อจำกัดเพื่อปรับปรุงงานวิจัย ตามหลัก Student centered หรือ ให้ศูนย์กลางอยู่ที่ผู้เรียน โค้ชที่ยุ่งมาก อาจโดนข้อหาลวนลาม เพราะไป "จ้ำจี้ - จ้ำไช" นศ. หุหุ ท่านว่าไม่ดีๆ

6. พวกนาฬิกาทราย

สิทธิการิยะท่านว่า นักวิชาการเหล่านี้ เป็นเหมือนนาฬิกาทรายที่ไม่มีเข็มเวลาเพื่อนับเวลาย่อยๆ มีแต่ปริมาณทรายซึ่งจะบอกว่าเวลาหมดหรือไม่หมดเท่านั้นเอง อันนี้ก็เหมือนนักวิชาการที่มีเวลาให้กับเรา นอกจากนี้ยังตรงต่อเวลา คือถ้าที่ปรึกษาอ่านงานแล้วก็สามารถมารับงานได้ตรงเวลา ว่ากันว่าความตรงต่อเวลานี้เหมือนกับการให้เกียรติต่อกันและกัน ทั้งที่ปรึกษาต่อนักศึกษา และนักศึกษาต่อที่ปรึกษา

ไม่ได้บอกนะว่า คนหนึ่งมีลักษณะเดียว แต่คิดว่าเป็นแบบ Combination หรือผสมกัน บางคนอาจะมีทั้งนพลักษณ์และอัปลักษณ์ปะปนกัน เหมือนหน้าคนแหละ มีสวยมั่ง ไม่สวยมั่งปนๆกันไป อืมม์… อาจจะมีนักวิชาการที่พึงปรารถนาอื่นๆอีกก็ได้นะ แต่คิดได้แค่นี้ก่อน ใครมีอะไรจะเพิ่มเติม ก็ช่วยบอกหน่อยเหอะ ช่วยๆกัน จรรโลงสังคมที่เราต้องเรียนๆๆ เพื่อ จุด จุด จุด (อะไรก็ไม่รู้ ไปแทนค่ากันเอาเอง!!!)