ระเบียบวิธีวิจัยการสื่อสาร


ปาริชาต สถาปิตานนท์ (2545). ระเบียบวิธีวิจัยการสื่อสาร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISBN 974-13-1885-5 (302 หน้า).

หนังสือเล่มนี้แม้ว่าจะเป็นหนังสือนิเทศศาสตร์ แต่ก็ใช้วิธีทางภูมิศาสตร์มาแบ่งหนังสือออกเป็นภาคๆ ได้แก่

ภาคที่ 1 แนวคิดเบื้องต้นในการวิจัยด้านการสื่อสาร
ภาคที่ 2 การพัฒนาโจทย์การวิจัยด้านการสื่อสาร
ภาคที่ 3 การวางแผนงานวิจัย
ภาคที่ 4 ระเบียบวิธีวิจัยด้านการสื่อสาร
ภาคที่ 5 การวิเคราะห์ข้อมูลและการนำเสนอผลการวิจัย

รสชาติหนังสือส่วนใหญ่เป็นไปตามตำราฝรั่ง ที่ อืมม์… อ่านแล้วคล้ายๆ เค้าโครงของหนังสือ Investigating communication research: An introduction to research methods ของ Frey, L. R., Botan, C. H., Friedman, P. G., & Kreps, G. L. แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะหนังสือเล่มนั้นก็อ่านได้อยู่ (แต่ง่ายสู้ของ John Reinard ไม่ได้…)

ตำราที่มีปกเป็นรูปการ์ตูนขาโจ๋ กำลังดูหนังกลางแปลงอยู่ ยอมส่อนัยยะเล็กน้อยว่าเนื้อหาจะอยู่ในรูปใด

หุหุ

เสียใจด้วยหากท่านกำลังคิดว่าตำราเล่มนี้จะมีการ์ตูนที่หนุกหนานประกอบ ตำราย่อมเป็นตำราวันยังค่ำ รูปประกอบที่มีก็จะอยู่ในรูปโมเดล (แบบจำลอง) หรือ ตัวอย่างตารางต่างๆที่จะทำให้เข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น โดยใช้ภาษาที่แปลมาจากภาษาอังกฤษอีกทีหนึ่ง ทำไงได้ล่ะ ก็เราไม่ได้คิดระเบียบวิธีวิจัยให้ฝรั่งเดินตามนี่นา…

ในภาคที่ว่าด้วยหลักคิดการวิจัย เป็นการนำเอาความคิดของฝรั่งล้วนๆมานำเสนอ จึงไม่แปลกว่าสิ่งที่เราคิดว่าหายไปคือปรัชญาทางการวิจัยแบบไทยๆ ที่นักวิชาการ หรือนักปราชญ์ไทย ได้กล่าวไว้ในที่ต่างๆ อาทิ คำของท่านประยุต ปยุตฺโต (2541) ที่กล่าวว่าเราวิจัยไปเพื่อ

1) ค้นหาความจริง
2) ค้นหาสิ่งที่ดี สิ่งที่ต้องการ สิ่งที่เป็นประโยชน์
3) ค้นหาทางหรือวิธีการที่จะทำให้มันดี และ
4) ค้นหาวิธีที่จะทำให้สำเร็จ

ซึ่งจะทำให้เราเห็นว่าเราควรจะวิจัยเรื่องอะไร ประเด็นไหน กับใครได้ชัดเจนขึ้น ทุกวันนี้เราก็ตั้งคำถามกับงานวิจัยบางเรื่องเหมือนกัน อย่างเรื่อง อัตลักษณ์ (Identity) ซึ่งได้รับความสนใจมากขึ้นในหมู่นักนิเทศศาสตร์ในปัจจุบัน (ดู คอลัมน์ โอเลี้ยง ถึงคำอธิบาย)

ผู้เขียนใช้วิธีเขียนแบบที่เราเรียกว่า Dalmatian หรือ เป็นหัวข้อ (1.1.1.2 อะไรทำนองนี้ จุดมันเยอะ) ซึ่งทำให้นักศึกษาอ่านง่าย เพราะเหมือนกับการเขียน Outline มากกว่าการเขียนเรียงความ ซึ่งนักเขียนตำราเมืองไทยไม่นิยมเขียนกัน (พอนศ. ทำวิทยานิพนธ์ก็เลยเขียนบ่ได้ เพราะไม่มีตัวอย่างการเขียนแบบเรียงความให้ดู)

โดยรวมแล้ว คนซื้อไปอ่าน น่าจำได้คุณมากกว่าโทษ (แม้ว่าจะมีคำผิดบ้างก็ตาม) เพราะภาษาที่ใช้ไม่ยาก แล้วก็มีการแบ่งภาค (พูดยังกับองค์นารายณ์อวตาร) ให้เข้าใจง่าย ตัวอย่างที่นำมาเสริมก็ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนดี ราคา 250 บาทถือว่าไม่แพงเลย เพราะคนเขียนอุตส่าห์ใช้เวลาตั้ง 6 ปี เพื่อเรียบเรียงโน้ตการสอนออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ (ไปเดาเอาเองว่าคนเขียนอายุเท่าไหร่แล้ว อิอิ)