Friendships of Gold - พลังแห่งมิตรภาพ

Max Ediger (แปลโดย จิราภรณ์ ธันจรูญ และอายุรี ชีวรุโณทัย, 2545). พลังแห่งมิตรภาพ.กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์.

“…สิ่งที่คนอื่นเขาทำให้กับเรายังมีค่าไม่เทียบเท่ากับการที่เราลุกขึ้นมาลงมือทำด้วยตัวของเราเอง ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาและช่วยตัวเราเองก่อน เราก็จะไม่มีวันรู้ว่าเราเข้มแข็งขนาดไหน คนเราจะมีศักดิ์ศรีได้ก็ต่อเมื่อเราทำอะไรๆด้วยตัวของเราเอง… “ (น. 79) นิมิต ตำรวจหนุ่ม พูดกับ เด็กตี่หรือลิลเกิร์ลของ โทนี่

คำพูดที่น่าจะช่วย “กำจัดจุดอ่อน” ของคนไทยที่ชอบอยู่ใน “สังคมเกาะรั้ว” ได้ คือคนไทยชอบดูชอบวิจารณ์ แต่ไม่ชอบลงมือทำอะไร หนังสือพลังแห่งมิตรภาพจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเรียกศักดิ์ศรีของบุคคลกลับมา โดยใช้ตัวเดินเรื่องไม่กี่ตัว

ตัวเดินเรื่องในหนังสื่อเล่มนี้มีหลายคน แต่ที่เด่นๆก็คือ นิมิต ตำรวจจบใหม่ที่พ่อแม่ถูกโกงที่ดินในต่างจังหวัด จนต้องตรอมใจตาย โทนี่ ทหารผ่านศึกสมรภูมิเวียดนาม ซึ่งไม่ให้อภัยตัวเอง เพราะเขาได้ฆ่าเด็กน้อยคนหนึ่งระหว่างสงครามเวียดนาม ทำให้ต้องกินเหล้าแบบหัวราน้ำทุกวันเพื่อไม่ให้คิดถึงอดีตที่หลอกหลอนเขา ตี่ เด็กสาวตัวน้อยพ่อแม่ทิ้ง แต่กตัญญูต่อยาย ด้วยการทำงานทุกอย่างเพื่อหาเงินมารักษายายที่ไอกระเสาะกระแสะ ตี่ ยังเป็นเพื่อนที่ดีของ โทนี่ และทำหน้าที่แม่สื่อชักนำให้ครูมาลัย ซึ่งสอนเธอที่โรงเรียนให้มารู้จักกับนิมิต ทั้งสี่คนและยายเล็กเป็นตัวจักรสำคัญในการต่อสู้กับปริญญา เจ้าของที่ดินที่ต้องการเอาที่ไปขายให้กับโรงแรม โดยไม่สนใจว่าชาวบ้านจะอยู่กันยังไงต่อไป

เรื่องนี้จับเหตุการณ์ที่เราๆท่านๆพบกันได้ในชีวิตของคนสลัม หรือชุมชนแออัด เพราะพวกเขาจะถูกเอารัดเอาเปรียบทุกรูปแบบ จากนายทุน ขณะที่พวกเขาเองก็ไม่ค่อยจะรวมตัวกันเพื่อลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อรักษาชุมชนของตนเอง จนกระทั่งมีใครออกมาพยายามเชื่อมโยงผู้คนในชุมชน แต่ก็ไม่วาย เขาคนนั้นก็จะถูกตั้งข้อสงสัยต่างๆนานา มีวิบากกรรมต้องฝ่าฟัน จนกระทั่งมีเหตุการณ์ให้พิสูจน์ตัวเอง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในชุมชน ชาวบ้านในเรื่องนี้ใช้รูปแบบเรียกร้องที่คล้ายๆกับชาวบ้านครัว ได้ต่อสู้กับทางด่วน เห็นภาพของครูมาลัย ที่คล้ายๆกับครูประทีป ภาพของชาวซอย 4 ที่คล้ายๆกับ ชุมชนคลองเตย ภาพของการเผาไล่ที่ ภาพของการดักยิงผู้นำชุมชน และอื่นๆอีกหลายอย่างที่คนไทยเราๆท่านๆ หาอ่านได้จากหนังสือพิมพ์รายวัน จนเกือบจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาบนหน้า 1 แล้ว

ตอนจบหนังสือเล่มนี้ ขาดความประทับใจไปหน่อย แต่ก็พออ้อมแอ้มให้เห็นการเปรียบเทียบระหว่าง การรวบรวมผู้คน กับการรวบรวมกำลังใจของบุคคล ในการต่อสู้กับวิกฤตชีวิต เพื่อที่จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆที่ดีๆทดแทนสิ่งเก่าๆขึ้นมา

หนังสือ 402 หน้าเล่มนี้ให้ข้อคิดหลากหลายเกี่ยวกับการรวบรวมผู้คนมาทำอะไรร่วมกัน (Collective action) เพื่อส่วนรวม ทั้งอุปสรรคเรื่องความไม่ไว้วางใจ การชอบคิดไปเอง บุญคุณ ความเคารพต่อผู้มีการศึกษา หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวที่อาศัยสื่อมวลชนเป็นแนวร่วม การต่อสู้นายทุนด้วยการประท้วง และข้อกฎหมาย ซึ่งคนอ่านอาจนำไปใช้เป็นแนวทางเคลื่อนไหวบ้างก็ยังได้

ผู้แปลพยายามแปลหนังสือนี้ให้ได้อรรถรสแบบไทยๆมากที่สุด แต่ก็ยังได้สูดกลิ่นไอความเป็นฝรั่งอยู่บ้าง อย่างเรื่องการใช้สรรพนาม เรียกกลุ่มชาวบ้านว่า “พวกคุณ” เมื่อคนนอกอย่าง สุพัตรา เข้ามาชี้นำให้ชุมชนเคลื่อนไหว ซึ่งปกติคนไทยจะใช้คำว่า “พวกเรา” มากกว่า เพราะถือว่าเป็นพวกเดียวกัน นอกจากนี้ ก็ถือว่าคนแปลสอบผ่าน เพราะให้ความรู้สึกที่เป็นไทยๆดี จากสำนวนที่ใช้

น่าแปลกที่ฝรั่งแต่งเรื่องนี้ โดยใช้ฉากในเมืองไทยเกือบ 97% แต่พออ่านประวัติคนแต่งแล้ว ก็รู้สึกไม่ค่อยจะแปลกเท่าไหร่ เพราะเขาเคยทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ตั้งหลายแห่ง Max Ediger เป็นบุคคลที่ถูกรัฐบาลไทยขึ้นบัญชีดำไม่ให้เข้าประเทศ (อีกแล้วครับท่าน) เพราะช่วยนักศึกษาพม่าเคลื่อนไหว Max คงเขียนหนังสือเล่มนี้จากประสบการณ์ ของเขาเอง โดยจินตนาการเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆเข้าไว้ด้วยกัน