เคยได้ยินปราชญ์ชาวบ้านคุยให้ฟังในที่ประชุมแห่งหนึ่งว่า ครอบครัวที่บ้านนี่ก็คล้ายๆกับรัฐสภา เราเป็นฝ่ายรัฐบาล มีเมียเป็นรัฐมนตรีคลัง แล้วก็เป็นฝ่ายค้านตัวโตในบ้านด้วย อิอิอิ…

สำหรับท่านที่ยังไม่มีครอบครัว แต่คิดว่าจะมี หรือท่านที่มีครอบครัวแล้ว เห็นมั๊ยว่า การฝึกทักษะการเถียงย่อมเป็นประโยชน์ในปัจจุบัน และในอนาคต ไม่ว่าคุณจะมีแฟนเป็นหญิงหรือชาย หรืออะไรก็ตาม

ก่อนเถียงคุณควรพินิจพิเคราะห์สิ่งที่ได้ยินให้ดี โดยคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้…

  1. ความหมาย หรือคำนิยามศัพท์ที่ใช้
  2. คำบางคำ ประโยคบางประโยคมีความหมายไม่ชัดเจน คลุมเครือ คำบางคำก็มีความหมายหลายอย่าง เช่น

     เวลาที่เจ้านายบอกว่า “คุณน่าจะมาถึงที่ทำงานก่อน 8 โมงนะ” เราอาจตอบว่า “เหรอ… มีอะไรเกิดขึ้นหรือ?” ก็ได้ เพราะไม่แน่ใจถึงจุดประสงค์ของเจ้านาย (แบบนี้เขาเรียกว่า พวกที่จบคณะแพทยศาสตร์ หรือ หัวหมอ) ตอบแบบนี้ อาจได้เป็นที่ระลึก  

    คำบางคำที่สื่อความหมายในเชิงนามธรรม อย่างเช่นคำว่า “ดี”  ดี แปลว่าอะไร มีอะไรมาเป็นมาตรวัด คนเราคงวัดความดีจากไม้บรรทัดในใจ ที่กว้างยาวไม่เท่ากัน คำว่าดีของคนหนึ่ง อาจจะไม่ดีในอีกสายตาของอีกคนก็ได้

    จริงมะ?

  3. ข้อพิสูจน์และเหตุผลที่เอามาอ้าง
  4. พูดง่ายๆคือข้ออ้างเขาฟังขึ้นไหม อย่างบอกว่า “ให้เรากินผักเยอะๆ จะได้ตาไม่สั้น เพราะไม่มีกระต่ายสักตัวที่ใส่แว่น” แหม… งั้นกินผักแล้วอาจทำให้มีเขางอกออกมาได้ เหมือนวัว เหมือนควายที่กินผักกินหญ้า ก็ได้นะ

    เอาเป็นว่า ข้อพิสูจน์และเหตุผลที่ยกมานั้น จะต้องฟังดูแล้วเข้าท่าเข้าทาง (Make sense) มีหลักฐานรับรองว่าน่าเชื่อถือ

  5. คุณภาพของข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้พิสูจน์ข้อโต้แย้ง
  6. แน่นอน คุณภาพของข้อมูลก็สำคัญเหมือนกัน คืออ้างถึงคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อ้างถึงวารสารวิชาชีพ วิชาการ สถิติ และตัวอย่างที่เกี่ยวข้อง

    เราคงจะไม่เที่ยวไปอ้างคำพูดของนักการตลาดในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ อืมม์… แต่ตอนนี้ก็เห็นคนจบอักษรฯ เป็น รมต. สาธารณสุข บางทีเธอก็ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการรักษา เทคนิคด้านการแพทย์ได้อย่างเป็นตุเป็นตะ เราควรจะเชื่อเธอดีไหม?

  7. วิธีการให้เหตุผล

คนพูดใช้วิธีการให้เหตุผลด้วยการยกตัวอย่างมาเยอะๆ แล้วนำไปสู่ข้อสรุป (inductive reasoning หรือ อุปนัย) อย่างบอกว่า

กรณีที่ 1 การกินกระถินทำให้ร่างกายแข็งแรง

กรณีที่ 2 การกินตำลึงทำให้ร่างกายแข็งแรง

กรณีที่ 3 การกินสะเดาทำให้ร่างกายแข็งแรง

สรุปว่า การกินผักทำให้ร่างกายแข็งแรง

คงเคยได้ยินคนเขาพูดกันว่า พม่า เขมร มาเลเซีย เขาตั้งบ่อนคาสิโน ดูดเงินนักพนันจากเมืองไทยกันได้ เมืองไทยก็ควรจะตั้งได้เหมือนกัน เพื่อป้องกันการรั่วไหลไปต่างประเทศ เป็นการให้เหตุผลแบบ Inductive reasoning เปี๊ยบ!

การให้เหตุผลอีกแบบนึงคือการเอาตัวบทมาเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยเอากรณีตัวอย่างมา apply เพื่อนำไปสู่ข้อสรุป (deductive reasoning หรือ นิรนัย) อย่างเช่น

ตัวบท กฎหมายไทยกำหนดว่าชายใดมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ต้องไปเกณฑ์ทหาร (ทุก A ดังนั้น B)

กรณี Apply ขณะนี้นายดวลเถลิง อายุ 21 ปี (C เป็น Subset ของ A)

สรุปว่า นายดวลเถลิงก็ต้องไปเกณฑ์ทหาร (C ดังนั้น B เหมือนกัน)

บางทีเราก็เคยได้ยินคนพูดทำนองนี้ “เรื่องนี้เป็นเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นักข่าว่าจะเข้ามาทำความเข้าใจ และขอขมา เรื่องหนักจะได้เป็นเบา” อืมม์… คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเนี่ยะนะ ขอขมาได้ ตามตัวบทกฎหมาย ผู้ที่ทำผิด กฎหมายนี้จะต้องถูกดำเนินคดีอาญาสถานเดียว ไม่เชื่อถาม วีระ มุสิกพงศ์ดู เพราะเคยหาเสียงด้วยการบอกว่า เขา ”เป็นนักการเมือง ต้องออกมาตะลอนๆหาเสียง ถ้าอยากสบายป่านนี้ทำตัวเป็นพระองค์เจ้าวีระ นอนอยูในวังดีกว่า” พูดจบก็โดนจับ ติดคุกไปพักนึงตามระเบียบ

<<< >>>